ประวัติสำนักงานอาสากาชาด
ในราวปี พ.ศ.2483 เกิดกรณีพิพาททางชายแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส คณะกรรมการสภากาชาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า สภากาชาดไทยน่าจะเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ เพื่อการออกปฏิบัติงานได้ทันท่วงที
คณะกรรมการสภากาชาดไทย จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการโดยหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นประธานอนุกรรมการได้จัดประชุมปรึกษาหารือกันหลายครั้ง ในที่สุดจึงได้มีมติให้ออกข้อบังคับสภากาชาดไทยว่าด้วยการอาสาสงเคราะห์จัดตั้งกองอาสากาชาดขึ้นเป็นกองแยกกองหนึ่งของสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2483 เพื่อรับสมัครผู้ที่มีจิตเป็นกุศล ซึ่งต่อมาเรียกว่าอาสากาชาด มาช่วยทำงานให้กับสภากาชาดไทย ทั้งในยามปกติและในเวลาที่เกิดภาวะฉุกเฉินแห่งสงคราม โดยกองอาสากาชาด มีหน้าที่ฝึกอบรมสมาชิกอาสากาชาดไว้เพื่อให้ทำการอุปการสงเคราะห์โดยทันท่วงที และมีประสิทธิภาพในเวลาฉุกเฉินแห่งสงครามหรือเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ และเป็นกำลังดำเนินงานของสภากาชาดไทยในเวลาปกติ
กองอาสากาชาด เปิดรับสมัครผู้มีจิตกุศลอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มาเป็นอาสากาชาดเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2483 ซึ่งต่อมาถือเป็นวันสถาปนากองอาสากาชาด
โดยนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรรมการสภากาชาดไทย เป็นผู้อำนวยการกองอาสากาชาด (คนแรก) หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นรองผู้อำนวยการ และหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเป็นเลขานุการองค์แรก
หลังจากรับสมัครอาสากาชาด และอบรมให้มีความรู้ความชำนาญแล้ว อาสากาชาดได้เข้าไปช่วยประกอบอาหาร ช่วยพยาบาลทหารเจ็บป่วยในโรงพยาบาลเสนารักษ์ พญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โรงพยาบาลสนามที่วัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี โรงพยาบาลสนามที่จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี
ครั้นเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา อาสากาชาดก็ได้ช่วยประกอบอาหารเลี้ยงทหารที่บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ ช่วยเขียนจดหมายติดต่อญาติ ช่วยงานด้านบรรเทาภัยทางอากาศ ช่วยเย็บเสื้อผ้า สำหรับใช้ในการรักษาพยาบาล และประดิษฐ์เครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
เมื่อสิ้นภาวะสงคราม มีการจัดตั้งสโมสรอาสากาชาดขึ้น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2484 เพื่อให้สมาชิกอาสากาชาดได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ไม่ห่างหายไปจากกองอาสากาชาด
ในยามสงบ โดยปกติแล้วอาสากาชาดจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนไข้ของแผนกผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดูแลเด็กอ่อนที่โรงพยาบาลหญิง ช่วยพับผ้ากอซ ม้วนสำลี ทำผ้าพันแผล ช่วยปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์ ทั้งอุทกภัย และภัยหนาว เป็นต้น ทั้งนี้อาสากาชาดสามารถออกปฏิบัติงานได้ตามความถนัด และความสมัครใจ
กิจกรรมของอาสากาชาด แบ่งเป็น 7 แผนก คือ แผนกช่วยฝ่ายธุรการ แผนกประดิษฐ์ แผนกการเลี้ยง แผนกอนามัยสงเคราะห์ แผนกสงเคราะห์ทางบ้าน แผนกบำรุงใจคนไข้ แผนกยานพาหนะ แผนกต่างๆ ของอาสากาชาด จะมีหัวหน้าแผนก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย อาสากาชาดที่จะสมัครเข้าทำกิจกรรมในแผนกต่างๆ จะได้รับการอบรมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสภากาชาด การปฐมพยาบาล และวิชาเฉพาะของแผนก และฝึกงานจนชำนาญก่อนออกปฏิบัติงานจริงตามหน่วยงานต่างๆ
งานของอาสากาชาดในระยะแรก ลักษณะเป็นงานที่ให้บริการ และให้การช่วยเหลือตามสถานการณ์ของบ้านเมือง
ในราวปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนางานของอาสากาชาดเพิ่มขึ้นอีก 4 แนวทางคือ งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสุขภาพอนามัย บรรเทาสาธารณภัย การอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม มีโครงการต่างๆ ที่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย เช่น โครงการรณรงค์ขจัดโรคขาดสารไอโอดีน โครงการต้นแบบโรงเรียนมาตรฐานระบบการต้านยาเสพติด โครงการอาสากาชาดฟื้นฟูสุขภาพถึงบ้าน ศูนย์พัฒนาทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สดใส การช่วยเหลือบรรเทาอุทกภัย โดยมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับสำนักงานอาสากาชาดเป็นอย่างมาก นับเป็นมิติใหม่ของสำนักงานอาสากาชาด (ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานอาสากาชาด เมื่อ 22 มิถุนายน 2539 โดยมติกรรมการเจ้าหน้าที่ ครั้งที่ 243/2539 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2539)
สำนักงานอาสากาชาด ได้พัฒนาแนวทางการปฏิบัติงาน และรูปแบบกิจกรรม และโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2560) นับเป็นเวลาถึง 77 ปี โดยมีพลังของอาสากาชาด และเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานให้เกิดความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายกิจกรรมอาสากาชาด ฝ่ายอบรมและประสานงาน และฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีผู้อำนวยการนับแต่ตั้งสำนักงานอาสากาชาดถึงปัจจุบัน 9 ท่าน ดังนี้
- นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. พ.ศ. 2483-2494
- ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พ.ศ. 2494-2502
- พลโทพระยาอภัยสงคราม พ.ศ. 2502-2507
- หลวงถวิลเศรษฐพณิชยการ พ.ศ. 2507-2517
- ม.ร.ว.พัฒนไชย ไชยันต์ พ.ศ. 2517-2534
- ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ พ.ศ. 2534-2537
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร พ.ศ. 2537-2540
- รองศาสตราจารย์นายแพทย์อติเรก ณ ถลาง พ.ศ. 2540-2543
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ดำรง เหรียญประยูร พ.ศ. 2543-ปัจจุบัน